วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่



พระสุนทรโวหาร
พระสุนทรโวหาร

ผลงานของสุนทรภู่
  
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้แต่งประวัติสุนทรภู่โดยพิสดารไว้ กล่าวว่า ได้ทรงค้นพบมี ประมาณ ๒๔ เรื่อง โดยแยกประเภทดังนี้
นิราศ ๙ เรื่อง
  
       นิราศ คือ บทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้าง ลำบากและใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการประพันธ์บทกวี พรรณนาถึงการเดินทาง และสภาพภูมิประเทศ โดยมากมักโยงเข้ากับความรัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายที่มาของนิราศไว้ ดังนี้: "หนังสือจำพวกที่เรียกว่านิราศ เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุจะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลายๆ วันมีเวลาว่างมาก ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไป จนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดี จึงแก้รำคาญโดยทางกระบวนคิดแต่ง บทกลอน บทกลอนแต่งในเวลาเดินทางเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะ ทาง แต่มักแต่งประกอบกับครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือน กระบวนความในหนังสือนิราศ จึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์...นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งทั้งเป็นโคลงแลเป็นกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศ
       ในครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งถือคติเดิมว่า โคลงฉันท์เป็นของสำคัญ และแต่งยากกว่ากลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวีอีกพวกหนึ่งชอบ เพลงยาว อย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉพาะที่เป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้ คือสุนทรภู่แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของ สุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่เป็นแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาล ที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕" นิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว ท่านยังสอดแทรกคติธรรม ข้อเตือนใจต่างๆ และเปรียบเทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย ทำให้นักศึกษางานของท่านสืบเสาะประวัติของท่านจาก งานนิพนธ์ของท่านเองได้มาก ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศไว้มาก
        แต่เท่าที่พบในปัจจุบันมี ๘ เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร ส่วน รำพันพิลาป ก็มีเนื้อความรำพึงรำพันทำนองเดียวกับนิราศ เนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านสุนทรภู่เป็น ส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนี้ ในช่วงเวลาที่ท่านบวชเป็นพระนั้น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่ว จึงเชื่อว่ายังมีนิราศ เรื่องอื่นของท่านที่ยังมิได้ค้นพบ หรืออาจไม่มีวันค้นพบก็ได้ เพราะต้นฉบับอาจถูกทำลายไปเสียแล้วเมื่อ ครั้งปลวกขึ้นกุฏิของท่านที่วัดเทพธิดารามรำพันพิลาป
กุฎิสุนทรภู่
        ปี พ.ศ.๒๓๘๕ พระสุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านได้ประพันธ์บทกลอนเชิงนิราศเรื่อง "รำพันพิลาป"ขึ้น เนื่องจากเกิดนิมิตฝันอันเป็นลางร้าย ว่าจะต้องถึงแก่ชีวิต ในฝันนั้นท่านว่าได้พบเห็นนางฟ้านางสวรรค์มากมาย รวมถึงนางมณีเมขลา มาชักชวนให้ท่านละชมพูทวีป แล้วไปอยู่สวรรค์ด้วยกัน เรื่องนางสวรรค์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าน่าจะหมายถึง กรมหมื่นฯ อัปสรสุดาเทพ นัยว่าท่านสุนทรภู่มีจิตพิศวาสอยู่ จะเป็นจริงเช่นไร ท่านผู้อ่านต้องลองอ่านบทกลอนของท่านสุนทรภู่เอง สำหรับข้าพเจ้าเองเห็นว่า น่าจะหมายถึงนางฟ้าจริงๆ มิได้มีความหมายอื่น
        ด้วยท่อนหนึ่งในนิราศบทนี้ ท่านยังอ้อนวอนนางมณีเมขลา ว่าให้แก้วแล้ว ขอประโยชน์โพธิญาณถึงพระนิพพานเถิด เช่นเดียวกับที่ท่านได้เคยแสดงความปรารถนาพุทธภูมิไว้ในนิราศหลายๆ เรื่องการเกิดฝันเช่นนี้ เมื่อท่านตื่นขึ้นจึงได้รีบแต่ง "รำพันพิลาป" นี้ขึ้น แสดงความในใจและประวัติชีวิตของท่านในหลายๆ ส่วน รวมถึงประเพณีเทศกาลต่างๆ ที่ได้ประสบพบผ่านมา ซึ่งในส่วนนี้เองทำให้เราทราบว่า ยังมีนิราศของท่านอีกหลายเรื่องที่ท่านแต่งไว้ 12 แต่เรายังไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะปลวกขึ้นกุฏิของท่าน ทำให้ต้นฉบับบทกลอนที่มีค่ายิ่งสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย เว้นเสียแต่จะมีผู้พบต้นฉบับคัดลอกจากที่อื่นเมื่อข้าพเจ้าอ่าน "รำพันพิลาป" จบ
        ข้าพเจ้าอยากให้ผู้คนทั้งหลายที่เคยคิดว่าสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ สุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ได้มาอ่านนิราศเรื่องนี้ด้วย ตลอดช่วงชีวิต ๖๙ ปีของท่าน ได้มีห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ เมื่อครั้งรับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพียง ๘ ปี ช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตของท่านเป็นเช่นไร ขอท่านได้โปรดอ่าน "รำพันพิลาป" จนจบ และตรองดูเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น